Alec Orachi การเดินทางเพื่อค้นพบตัวตนและปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระในอัลบั้ม ‘FREE 2 GO’

     หลังจากปรากฏตัวในเทศกาลดนตรี Maho Rasop และโชว์อื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ผู้ชมต่างพูดถึงการแสดงที่อัดแน่นไปด้วยพลังงานของ Alec Orachi ซึ่งท่าทีบนเวทีที่ไม่เหมือนใครกับการปลุกไฟในตัวคนดูก็นำเสนอความ ‘อิสระ’ ที่จะปลดเปลื้องอารมณ์ความรู้สึกออกมาแบบไม่กั๊ก เหมือนกับอัลบั้ม FREE 2 GO’ ที่เขา ได้ถ่ายทอดความเป็นตัวเองออกมาเป็น 10 เพลงหลากหลายรสชาติ มาทำความรู้จักกับศิลปินมาแรง และเรื่องราวเบื้องหลังในชีวิตของเขาที่ทำให้กลายมาเป็นเขาในทุกวันนี้ได้ในปฐมฤกษ์ของคอลัมน์ Transmission ทาง The COSMOS

     Jacky Sakdipat เติบโตที่ประเทศไทยในครอบครัวที่รักเสียงดนตรี สามพี่น้องได้รู้จักกับวงอย่าง Arctic Monkeys, Craig David, Jason Mraz และเริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่อายุยังน้อย แจ๊คกี้ เริ่มจากการเรียนเปียโนเป็นเวลา 6 ปีแต่ก็ไม่ได้รู้สึกชอบขนาดนั้น เมื่อเห็นพี่ชายของเขา (จีเนียส Lepyutin) เล่นกีตาร์ เขาจึงหันมาชอบในเสียงกีตาร์และเริ่มหัดเล่น ก่อนจะค้นพบว่าอยากร้องเพลงนับแต่นั้นเป็นต้นมา

     ก่อนหน้านี้เขาคิดว่าการทำเพลงต้องทำผ่านโปรแกรมแพง ๆ และกระบวนการทำก็แทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับเขา จึงไม่ได้เริ่มลงมือทำตั้งแต่ตอนนั้น จนช่วงมัธยมปลายแจ๊คกี้ย้ายไปเรียนต่อที่ออสเตรเลียและได้ค้นพบ Steve Lacy ผ่านทางช่อง YouTube ของนิตยสาร WIRED ในฐานะนักดนตรีอายุ 20 ที่ทำเพลงด้วยตัวเองผ่านมือถือ นั่นเป็นแรงบันดาลใจให้เขาหัดทำเพลงจาก GarageBand บน iPad และคลุกคลีอยู่กับมันเป็นเวลาสองปีเต็ม ก่อนจะเปลี่ยนไปทำความรู้จักกับ Ableton เป็นช่วงเดียวกับที่เขาเริ่มฟัง Tyler, the Creator, Frank Ocean, Rex Orange County, XXXTentacion งานส่วนใหญ่ของเขาที่อัปโหลดขึ้น Soundcloud ในช่วงนั้นได้อิทธิพลจากเพลงฮิปฮอปอาร์แอนด์บี รวมถึง EP ชุดแรก ‘I’m Not What They Say I Am’ ที่ทำให้ Alec Orachi เริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงอินดี้ แต่เขาก็ยังไม่สามารถเรียกงานในช่วงนี้ว่าเป็น ‘สไตล์ของตัวเอง’ ได้อย่างเต็มปาก

     “ผมย้ายไปออสเตรเลียหลังจบ ม.3 ที่สวนกุหลาบ คือผมอยากไปต่างประเทศอยู่แล้ว ที่ไหนก็ได้ ผมชอบภาษาอังกฤษมากเพราะมันทำให้ผมรู้สึกไร้ข้อจำกัดและสามารถสื่อสารกับใครก็ได้ แล้วตอนนั้นเพลงฮิปฮอปมันกำลังมาด้วย ถ้าผมไม่ได้ไปที่นู่นผมคงไม่รู้จักวงพวกนี้ ซึ่งผมไม่รู้หรอกว่าแนวที่ผมชอบจริง ๆ คือแนวอะไร แต่ก็ลองหัดทำไปก่อนเท่าที่ทำได้”

     จนช่วงมหาวิทยาลัยเขาเลือกเข้าเรียนสถาปัตยกรรมที่ออสเตรเลีย แต่เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 2  เขาค้นพบว่างานออกแบบไม่ได้อนุญาตให้เขาแค่วาดรูปและระเบิดความคิดสร้างสรรค์ ประกอบกับการเริ่มแพร่ระบาดของ COVID-19 แจ๊คกี้ตัดสินใจลาออกและกลับมาที่ไทยเพื่อเดินหน้าในสายดนตรีแบบเต็มตัวเพราะนั่นคือสิ่งที่เขารัก และเขามองว่าไทยอาจเป็นที่ที่เขานำเสนอผลงานได้เต็มที่

     “ผมแค่รู้สึกว่ามัน(สถาปัตย์)ไม่ใช่ผม ผมเลือกเรียนที่แรกเพราะคิดว่าจะได้วาดรูป ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเดียว ซึ่งตอนปีหนึ่งมันสนุกมากเพราะเราต้องคิดไอเดียต่าง ๆ ไม่ต้องไปจับจดกับทฤษฎีมาก อาจารย์มักจะให้ผมออกไปแสดงตัวอย่าง แล้วผมก็ได้คะแนนดีสุดของรุ่นมาตลอด แต่พอขึ้นปีสอง มันใช้เทคโนโลนีกับคอมพิวเตอร์เยอะมาก ต้องเรียนทฤษฎีมากขึ้น ต้องทำงานตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น ผมไม่เก่งอะไรพวกนี้เลย แล้วถ้าผมรู้สึกไม่เคารพคนที่สอนสิ่งนั้นให้กับผม ผมก็เรียนด้วยไม่ได้ เขาชื่อ Spector ผมไม่ชอบเขา แล้วผมก็สอบตกวิชานี้ คือผมไม่ใช่คนเรียนเก่งอะไร แต่ทั้งชีวิตมานี้ผมไม่เคยสอบตกเลย ก็เริ่มถามตัวเองว่า ‘นี่กูทำไรอยู่วะ’ พอโควิดมา ผมก็เริ่มมองอนาคตของตัวเอง สิ่งที่เห็นคือการได้พัฒนาความสามารถและได้ทำสิ่งที่ชอบให้ได้มากที่สุด พอผมกลับไปที่อพาร์ตเมนต์ ผมยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยว ที่นั่นไม่ได้ให้ความรู้สึกเหมือนบ้าน มันไม่ให้ความรู้สึกปลอดภัย ผมอยากกลับมาถึงห้องแล้วไม่ต้องกังวลว่าจะต้องกินอะไรหรือต้องใช้เงินเท่าไหร่ถึงจะพอใช้ชีวิต ผมเลยตัดสินใจกลับมาไทย แล้วลองถอยกลับมาดูตัวเองก้าวนึง ก่อนจะปรับมุมมองในการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น”

     เมื่อกลับมา Alec Orachi ยังไม่หยุดที่จะทำเพลง เขาทำผลงานออกมาอยู่เรื่อย ๆ และเวลานั้นเองที่เขาได้ร่วมงานกับค่าย NewEchoes และปล่อยซิ้งเกิ้ล ‘Itsukushima’ และ ‘219’ โดย 2 เพลงนี้ให้โอกาสเขาได้ลองผิดลองถูกและได้เห็นกระบวนการทำงานในหลายรูปแบบ แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่เขากำลังตามหาซะทีเดียว

     “ผมว่าผมต้องพยายามมากตอนทำ ‘Itsukushima’ ผมอยากให้เพื่อน ๆ ในวงได้มีส่วนร่วม เล่นด้วยกันแล้วสนุก เลยให้สมาชิกแต่ละคนอัดเอง แต่สุดท้ายแล้วเพลงนั้นมันไม่มีความเป็นผมเลย ตอนนั้นผมรู้สึกว่าการเข้าค่ายมาก็คืออยากเรียนรู้ ซึ่งก็ได้เรียนรู้เยอะ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะบอกความต้องการของตัวเองยังไงเพราะก็เกรงใจ ผมรู้สึกว่าซาวด์มันยังไม่ใช่ แต่พอ ‘219’ ก็เริ่มรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรมากขึ้น แต่ผมก็พูดเถรตรงเกินไปว่าอยากได้แบบนี้ ไม่ใช่แบบที่เขามิกซ์มาให้ แทนที่จะคุยดี ๆ ให้เข้าใจกันทั้งสองฝ่ายผมกลับมีท่าทีแข็งกร้าว ซึ่งมันไม่ใช่ความผิดของเขาเลยเราแค่คนละสไตล์ แล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมเป็นตัวเองได้ในทุกวันนี้ ผมเรียนรู้อะไรจากช่วงที่ทำเพลงนี้เยอะมาก ๆ”

แล้วรู้ได้ยังไงว่าจริง ๆ แล้วตัวเองชอบแบบไหน

     “ผมว่าผมหูดีนะ ตอนทำ EP แรกใน Garage Band แล้วจะต้องมิกซ์ มาสเตอร์เพลงเอง ผมก็จะเปิดเพลงในรถ ลองเล่นดูแล้วก็กลับมาแก้มิกซ์ แล้วลองฟังในลำโพงดี ๆ ฟังในมือถือ ฟังกับหูฟัง ลองมิกซ์หลาย ๆ แบบเลยทำให้ผมพอจะรู้นิดหน่อยว่าชอบซาวด์แบบไหน”

     Alec Orachi เริ่มหยุดนิ่งและตั้งคำถามกับตัวเองว่าอะไรกันแน่ที่เป็นสิ่งที่เขาต้องการ ทั้งที่เขามีอัลบั้มอยู่แล้วในมือแต่เพราะซาวด์ที่ไม่ใช่ เขาเลยตัดสินใจโละและเริ่มใหม่ แต่ก็จะขอไปเคลียร์หัวสักเล็กน้อยก่อน ช่วงที่พักจากการทำเพลง เขาและเพื่อน ๆ เดินทางไปยังเกาะช้างและได้ใช้ไซเคเดลิก ตอนนั้นเองที่เขาได้รู้จักกับ ‘น้าเส’ ชายที่อาศัยอยู่ในบาร์เร็กเก้ คนที่เขาเรียกว่าเป็น ‘ครู’ เพราะบทสนทนาเรียบง่ายในค่ำคืนนั้นได้นำไปสู่คำตอบของสิ่งที่เขาตามหา

     “ตอนนั้นผมหลบออกมาจากวงสนทนาของเพื่อน ๆ แล้วน้าเสก็เรียกผม ‘เฮ้ย ไอตี๋ ขึ้นมานั่งข้างบนป่าว’ แล้วเราก็นั่งกันที่ระเบียง ผมมองทะเล มองฟ้าที่ตอนนี้เป็นสีน้ำเงินคราว ๆ มีเมฆ 1 ก้อน แล้วน้าเขาเปิดเพลงดีมาก ที่นอนเขาคือแค่ระเบียง ห้อยขาลงไปก็เป็นหน้าผาละ มีผ้ารูป Bob Marley แขวนอยู่ แล้วก็มีแสดงสีม่วง ๆ แดง ๆ ลอดเข้ามา กับมีพัดลมตัวเดียว ผมก็ถามน้าว่านอนอย่างงี้หรอ น้าบอก ‘ใช่ นอนแค่เนี้ย ชีวิตมันก็แค่เนี้ย สบาย ๆ’ คือใช่เลยอะ ‘สบาย ๆ’ คำนี้ติดอยู่กับผมจนกลับมา แล้วเราก็เริ่มทำเพลงใหม่กันทั้งหมด”

     เมื่อทุกข้อสงสัยถึงคราวกระจ่าง Alec Orachi ปฏิเสธทุกกรอบคิดที่เขาไม่เห็นด้วยและดึงตัวเองออกมาจากสังคมที่ไม่เคยทำให้เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง ไปจนถึงเรียนรู้ที่จะทำตามความต้องการของตัวเอง เขาฟังเพลงเร็กเก้แทบทุกวันนับตั้งแต่กลับจากเกาะเพราะเขารู้สึกว่าเพลงเหล่านี้มีหัวใจของคำว่า ‘สบาย ๆ’ อยู่ บวกกับความบังเอิญที่ไปเจอเพลงแจ๊สจำพวก charleston ช่วงยุค 1920s ที่มักจะถูกเล่นด้วยจังหวะที่เร็วกว่าปกติและมักใช้ประกอบการ์ตูนสมัยก่อน ไปจนถึงการได้รู้จักกับบทเพลงของ Amy Winehouse จากวิทยุที่พ่อของเขาเปิด ที่นอกจากจะมีการเรียบเรียงที่ชาญฉลาด แต่ยังใช้ภาษาเรียบง่าย ภาษาที่ตัวเขาเองก็ใช้พูดกับเพื่อน ๆ อยู่ทุกวัน แต่กลับสัมผัสได้ถึงอารมณ์ความรู้สึกอย่างแท้จริง ตอนนั้นเองที่เขาได้ตกตะกอนความคิดและได้ค้นพบ ‘สไตล์ของตัวเอง’ และออกมาเป็นอัลบั้มเต็มชุดแรก “FREE2GO”

     “ตอนทำ ‘219’ ผมพยายามร้องให้ได้ perfect pitch แต่ผมรู้ว่าก็ไม่ใช่คนเสียงดีขนาดนั้น แล้วเหมือนพอกลับมาจากเกาะผมก็ชิลขึ้นและค้นพบว่าการร้องแบบดิบ ๆ เหมือนคนป่า มันสบายกว่าเยอะ เดี๋ยวนี้ผมใส่แต่รองเท้าแตะ ใส่สร้อยเปลือกหอย และใส่กางเกงขาสั้นตลอดเหมือนตอนวิชาพละ ผมมองชีวิตเหมือนวิชาพละที่ให้ความรู้สึกว่าเราจะวิ่งได้อย่างมีอิสระ เหมือนสนามเด็กเล่นที่ผมอยากจะเล่นจะลองทำอะไรก็ได้”

     เขาเริ่มทำอัลบั้มเมื่อต้นปี 2022 โดยใช้เวลาสร้างสรรค์ออกมาอย่างรวดเร็วและเป็นธรรมชาติ “ชุดนี้ผมทำงานกับพี่วิน Mamakiss ตอนแรกเขาทำงานในคอมพิวเตอร์ของเขา ทำเพลงที่สตู ผมรู้ทันทีว่าสิ่งนี้จะไม่มีวันให้ผมได้สิ่งที่ต้องการ เลยบอกว่าเดี๋ยวผมจะทำในคอมตัวเอง ในห้องตัวเอง ผมไม่เคยมีความทรงจำพิเศษในสตูดิโอ เพราะผมเชื่อว่าสถานที่ที่ผมได้ใช้ความคิดมากที่สุดก็คือห้องนอน ง่วงก็นอน ตื่นมาก็ทำเพลงต่อ พี่วินที่มีสตูดิโอใหญ่ ๆ ต้องมานั่งกดคีย์บอร์ด ทำเพลง Alec Orachi บนเตียงของผม เพราะผมอยากให้เขาพอจะว่าตัวตนของผมจริง ๆ เป็นยังไง พอทำงานด้วยกันต่อจากนั้นเราก็เริ่มจูนกันติด บอกให้เขาเล่นแบบเล่น ๆ ไม่ต้องคิดเยอะ เพื่อที่เราได้กลับไปพบกับตัวตนวัยเด็กของเราที่ซ่อนอยู่ข้างใน ซึ่งเขาเข้าใจผม และพยายามให้ใกล้กับความต้องการของผม ผมรู้สึกนับถือเขามาก เป็นการทำเพลงที่สนุกมาก”

     ทั้ง 10 เพลงที่ใช้เวลาทำ 2-3 เดือน บอกเล่าสิ่งที่เขาได้ประสบตลอดระยะเวลาบนเส้นทางสายดนตรีที่เขาเลือก ถ่ายทอดผ่านน้ำเสียงและเนื้อร้องที่ตรงไปตรงมา *“*ผมไม่ได้เขียนเนื้อร้องขึ้นมาก่อน **มันเกิดจากการที่พอฟังเมโลดี้ไหนแล้วรู้สึกยังไง **ผมไม่เรียกมันว่าแร็ป **ผมก็แค่พูดมันออกมา **และผมใช้เทคแรกเสมอ **อย่างคำว่า **‘money’ ในเพลง ‘GG Love’ ผมออกเสียงเพี้ยนเป็น moo-nee แต่ผมก็ไม่ได้ไปแก้อะไรเพราะมันดิบมาก ๆ ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนได้ยินก็คือความรู้สึกที่จริงที่สุดของผม”

     ดนตรีในอัลบั้มนี้ได้อิทธิพลของเร็กเก้ แจ๊ส ฮิปฮอป อาร์แอนด์บี อัดแน่นไปด้วยความขี้เล่น ความสบายเป็นกันเอง ไปจนถึงความเกรี้ยวกราด ประชดประชัน ความกระหายจะทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ และการเข้าใจความเป็นไปของชีวิต ทั้งหมดนี้คือบุคลิกที่ตัวเขาเป็น ถูกปั่นรวมกันกับภาพลักษณ์ภายนอกที่คนรอบข้างมองเขาว่าเหมือนตัวละครจากการ์ตูนสักเรื่อง จนออกมาเป็น “FREE2GO” ผลงานที่กลมกล่อมและควรค่าแก่การเป็นเดบิวต์อัลบั้มของ Alec Orachi ที่สุด

     “ผมพูดว่า go ในอัลบั้มนี้เยอะจนเกือบตั้งชื่ออัลบั้มว่า Go-getter แล้วจู่ ๆ ก็มีสแปมเมลเด้งเข้ามาในอินบ็อกซ์ เขียนว่า ‘Free to Go’ มันเป็นจังหวะที่เพอร์เฟกต์มาก ผมมองว่า คำว่า free to go ถ้าเพื่อนเราเป็นคนพูดมันจะมีความชิลอยู่ แต่ถ้าเป็นตอนอยู่ในห้องเรียน คุณจะขอครูไปห้องน้ำ แล้วพอครูพูดให้ free to go มันเหมือนเรารอได้รับอนุญาต ก็เหมือนกับว่าคุณจะมองอัลบั้มนี้ในมุมไหน คุณจะมองผมเป็นเพื่อนหรือเป็นคนออกคำสั่งแบบครูก็ได้หมดเลย ผมเปลี่ยนมาใช้เลข 2 เพราะมันดูเป็นตัวผมมากกว่า ผมเป็นลูกคนกลาง เหมือนผมมีพี่ชายน้องชายขนาบอยู่ซ้ายขวา F ก็ลงท้ายในชื่อ Jeff ส่วน G ก็มาจาก Genius มันตีความได้อีกว่าถึงตอนนี้ผมจะเป็นอิสระจากทุกสิ่ง แต่การที่ผมทำอะไรแบบนี้ได้ก็เพราะผมมีคนที่ผมรักคอยซัพพอร์ตอยู่ด้วยกันตลอดเวลา มันไม่มีอะไรพอดีไปกว่านี้อีกแล้ว”

ฟัง ‘FREE 2 GO’ จาก Alec Orachi และติดตามความเคลื่อนไหวของเขาได้ ที่นี่