ส่องคอนเซปต์ THACCA โมเดลสนับสนุนซีนดนตรีจากทีมนโยบายพรรคเพื่อไทย

THACCA นโยบาย เพื่อไทย เลือกตั้ง

“ทำไมจัดอีเวนต์แต่ละที ต้องเหนื่อยไปยื่นเอกสารหลายหน่วยงาน?”
“ทำไมจัดงานคอนเสิร์ตอยู่ จู่ ๆ ตำรวจก็ลงแบบไม่ทราบสาเหตุ?”
“ทำไมนักดนตรี ศิลปินต้องวิ่งหลายงานหลายร้านในคืนเดียว?”

หากทุกคนยังจำกันได้ ธุรกิจกลางคืนสมัยก่อนอย่างคลับดีเจ คลับคัลเจอร์ อันเดอร์กราวนด์ ถือเป็นแหล่งรวมสายปาร์ตี้ที่คับคั่งไปด้วยชาวแดนซ์จัดหนักยันเช้าชนิดที่บูมมาก ๆ แต่พอประเทศโดนฟรีซ หลายมนต์เสน่ห์ของวัฒนธรรมย่อย รวมถึงพับลิคคอมมูนิตี้ก็ถูกกลืนหายไปตามกาลเวลา จนแอบปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจเหล่านี้เป็นส่วนช่วยให้เศรษฐกิจเดินต่อไปเช่นเดียวกับการท่องเที่ยวประเภทอื่น แถมสุราห้าม แอลกอฮอล์ทางเลือกก็ไม่ได้ กระทั่งการจัดคอนเสิร์ตสเกลเล็กใหญ่ การยื่นขอทุนและวีซ่าศิลปินไทยไปต่างประเทศก็ดูยุ่งยากเหลือเกิน

เมื่อรัฐไม่เคยเยียวยาหรือดูแล ส่งเสียงออกไปก็ไม่ได้ยิน วันนี้เราเลยมานั่งคุยกับหนึ่งในทีมนโยบายจากพรรคเพื่อไทย ผู้คลุกคลีอยู่ในวงการ Art & Entertaiment ที่มองเห็นลูปปัญหาที่สะสมกันมาอย่างยาวนาน เช่น ค่าตอบแทนต่ำแลกกับชั่วโมงงานสูงลิ่ว การผูกขาดหุ้นส่วนนายทุน ความไม่เท่าเทียมของโอกาสและพื้นที่ในการแสดงออก สำหรับตัวผู้จัด ผู้ฟัง และคนทำงานเบื้องหลังในแวดวงอุตสาหกรรมดนตรี อะไรที่จะมาช่วยเหลือพวกเขาได้บ้าง

“เราเชื่อว่าการทำงานกับพรรคมันมี Ground Breaking บางอย่างที่เป็นแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศหรือแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้ เพราะคนตัวเล็กในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่สามารถผลักดันวงการหรืออยู่รอดด้วยข้อกำจัดและเสียงที่เขามี”

THACCA นโยบายเพื่อ “ดนตรีและเฟสติวัล” ไทย

THACCA หรือ Thailand Creative Content Agency คือหนึ่งในนโยบายสร้างงานและส่งเสริมซอฟต์พาว์เวอร์ (OFOS) จากพรรคเพื่อไทยที่พัฒนาผ่านข้อเสนอของครีเอทีฟรุ่นใหม่ โดยพวกเขาจะจับมือกับผู้มีประสบการณ์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศ และภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมคนสร้างสรรค์ ซึ่งมีส่วนช่วยในการผลิต บ่มเพาะความสามารถ กระจายองค์ความรู้ ขยายฐานต่างประเทศ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณพร้อมเซอร์วิสแบบครบวงจร

ในทางปฏิบัติ โรลโมเดลนี้ไม่ใช่อะไรที่ใหม่มากนัก อย่างประเทศเกาหลีมี KOCCA (Korea Creative Content Agency) และไต้หวันมี TAICCA (Taiwan Creative Content Agency) คำถามอยู่ที่ ทำไมประเทศไทยยังทำไม่ได้? เพราะศักยภาพของรัฐไม่เพียงพอหรือเปล่า มีตลาดรองรับมากน้อยแค่ไหน กฎหมายอะไรที่ต้องรื้นถอนบ้าง บางองค์กรก็สร้างขึ้นมาเพื่อเอื้อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มเท่านั้น

เราอาจเคยทราบข่าวคราวของกลุ่ม CUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ที่ร่วมผลักดันวาระต่าง ๆ ส่งเข้าสภามาบ้าง และการรวมตัวเป็นสหภาพฯ จะทำให้การเจรจาต่อรองมีน้ำหนักมากขึ้น ส่วนประกอบที่ขาดไปไม่ได้เลยคือภาคประชาชน กว่า 99 เปอร์เซ็นต์ล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนและหมุนเวียนเศรษฐกิจประเทศ

และภายในอีก 5-10 ปีข้างหน้าก่อนเปลี่ยนถ่ายเป็นสังคมผู้สูงวัย กลุ่มคนที่จะจ่ายภาษีให้กับภาครัฐคือเจเนอเรชั่นถัดจากเจน Y-Z แปลว่า สายงานสร้างสรรค์ เทคโนโลยี สตาร์ทอัพ หรืออาชีพตาม Global Trend จะกลายเป็นช้อยส์หลักของคนรุ่นใหม่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ชาเลนจ์ใหญ่ของภาครัฐก็ต้องมี Political Values ที่แข็งแรงพอจะสร้างกำลังคน กระตุ้นพวกเขา เบสออนบนกลยุทธ์สร้างอาชีพอย่างเอาจริงเอาจัง เช่น การรีสกิลที่สอดคล้องกับความต้องการส่วนตัวและดีมานด์ในประเทศ, ฟาสต์แทร็กที่ร่นระยะเวลาเรียนรู้ลงเพื่อนำไปใช้ทำมาหากินแบบไม่ผ่านคลาสเป็นปี ๆ ศึกษาเฉพาะทาง เทรนนิ่งกับอาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญในวงการ ฯลฯ

ต่อมาในส่วนของนโยบายเพื่ออุตสาหกรรมดนตรี พวกเขาแบ่งออกเป็น 6 หัวข้อด้วยกัน อาทิ การจัดตั้งหน่วยงาน One-Stop Service ที่อำนวยความสะดวกครบจบในที่เดียว ลดขั้นตอนการยื่นเอกสารขออนุญาต ขยายวีซ่าศิลปินไทยและต้อนรับศิลปินต่างประเทศแทบ South East Asia ให้เข้ามาเล่นในบ้านเราได้ง่ายขึ้น, ทลายขบวนการรีดไถจ่ายส่วย ลดต้นทุนแฝงของผู้ประกอบการท้องถิ่น, ปลดล็อคกฎหมายที่เป็นอุปสรรคทั้งสุราชุมชน ช่วงเวลาซื้อขายแอลกอฮอล์ ลดหย่อนภาษี สปอนเซอร์

เพิ่มพื้นที่จัดแสดงดนตรี อะไรที่มีอยู่แล้วอาจเปิดให้ใช้ อย่างสวนสาธารณะ พื้นที่เปล่าตามมุมเมืองหรือค่ายทหารที่ครอบครองพื้นที่เป็นอันดับสองรองจากการรถไฟแห่งประเทศไทย, เพิ่มทุนสนับสนุนดนตรีผ่านกองทุนรวมผ่านการ Scale Down งบประมาณบางส่วนจากหลายกระทรวงให้บาลานซ์กัน เพื่อซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายในการจัดแสดงและคอนเสิร์ต เปิดโอกาสให้นักดนตรีหรือผู้เริ่มประกอบกิจการสามารถเข้าถึงทุนได้ ไม่แบ่งแยกแนว โอบรับทั้งดนตรีไทย ดนตรีสากล และดนตรีร่วมสมัย

ชาเลนจ์รองลงมาคือการสร้าง Creative Economy ยกระดับแต่ละซีน สภาพแวดล้อมแบบไหนเหมาะจะนำเสนออะไร เป็นไปได้ไหมที่บ้านเราจะมีเทศกาลภาพยนตร์ เวิร์กช็อป นิทรรศการศิลปะ งานดีไซน์วิชวลเจ๋ง ๆ มีอีเวนต์ปักหมุด คุณภาพเทียบเท่าระดับโลก ไปจนถึงการโปรโมทและปรับมายด์เซ็ตใหม่ เพราะเฟสติวัลไม่ได้มีประโยชน์แค่ในเชิงสันทนาการสนุกสนานเท่านั้น ในอีกบริบทหนึ่งมันก็ทำหน้าที่เป็นจุดแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างผู้คนในประเทศและนอกประเทศด้วย

ซึ่งการ Restructure ระบบโครงสร้าง ต้นตอปัญหาภายในประเทศยังคงเป็นหัวใจสำคัญ ทั้งเรื่องค่าจ้าง ปากท้อง รัฐสวัสดิการ มาตรฐานการทำงาน และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ต่างเป็นสิ่งที่พวกเขาเน้นย้ำกับเราตลอดบทสนทนา อย่าลืมไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งพร้อมกันทั้งประเทศวันที่ 14 พฤษภาคมนี้