Crying in H Mart ความทรงจำแสนอบอุ่นและรวดร้าวที่เล่าผ่านมื้ออาหารของแม่

Crying in H Mart Book

เราทุกคนคงมีเมนูโปรดในความทรงจำครั้งยังเป็นเด็ก ๆ ซึ่งเมนูพวกนี้มักจะเป็นอะไรที่หากินยากตอนเราโต แล้วถ้าวันไหนได้กลับมากินเมนูนั้นอีกครั้งโดยรสชาติแทบจะไม่เปลี่ยนไปก็คงทำให้เรายิ้มแก้มปริ

Crying in H Mart

H Mart คือซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายสินค้านำเข้าจากเกาหลี คนพลัดถิ่น ผู้อพยพ หรือครอบครัวที่มีเชื้อสายเกาหลีในอเมริกามักจะมารวมตัวกันที่นี่เพื่อตามหาข้าวของเครื่องใช้ ไปจนถึงอาหารที่ย้ำเตือนต้นกำเนิดของพวกเขา คงคล้าย ๆ กับเวลาเราไปใช้ชีวิตต่างประเทศนาน ๆ แล้วอยากได้น้ำปลา กะทิ น้ำพริกเผา ก็ต้องไปตามหาในร้านชำตามไทยทาวน์นั่นแหละ

สำหรับมิเชลก็ไม่ต่างกัน เธอจะทบทวนรสชาติที่โหยหาเหล่านั้นด้วยการใช้เวลาอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่เธอจะร้องไห้ไปพร้อม ๆ กับการหยิบห่อวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารเกาหลีขึ้นมาดู โดยหวังว่าความทรงจำผ่านอาหารพวกนั้นที่มีร่วมกับแม่ของเธอจะไม่หายไปไหน

ในฐานะคนฟังเพลง หลายคนน่าจะรู้จัก Michelle Zauner ในบทบาทฟรอนต์วูแมนของวง Japanese Breakfast ซึ่งในขณะเดียวกับที่เธอกำลังเขียนเพลงในอัลบั้มชุดแรก Psychopomp เธอก็เริ่มเขียนความเรียงลงในนิตยสาร The New Yorker เกี่ยวกับแม่ที่เพิ่งเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับอ่อน ในเวลาต่อมา เรื่องสั้น ‘Real Life: Love, Loss and Kimchi’ ของเธอก็ชนะเลิศการประกวดความเรียงครั้งที่ 11 ของนิตยสาร Glamour และไม่นานนักเธอก็ได้เรียบเรียงบันทึกความทรงจำเหล่านั้นออกมาเป็นหนังสือ ‘Crying in H Mart’ ที่ทำให้เราทั้งท้องร้องและร้องไห้ไปกับตัวหนังสือของเธอตั้งแต่บทแรก

กระนั้นแล้ว ‘Crying in H Mart’ ไม่ใช่เรื่องเศร้าที่ทำให้เราฟูมฟายทั้งเล่ม แต่เป็นเหมือนสารคดีที่เล่าวีถีชีวิตชาวเกาหลีในอเมริกาแบบที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ทั้งโรงอาบน้ำ การเรียกขานชื่อ ไปจนถึงเมนูอาหารเกาหลีมากมายที่อ่านแล้วน้ำลายไหล ทุกจานไม่เพียงแต่ดีต่อสุขภาพ แต่ลึก ๆ แล้วมีความหมายที่แสดงถึงความผูกพันและห่วงใยคนในครอบครัว มิเชลเป็นลูกครึ่งอเมริกันเกาหลี เธอเกิดที่โซลและเติบโตที่เมืองยูจีน รัฐโอเรกอน โดยยังแวะเวียนกลับไปหาครอบครัวฝ่ายแม่ที่โซลอยู่บ่อย ๆ ซึ่งความใกล้ชิดของเธอกับญาติ ๆ ก็ทำให้มิเชลซึมซับวัฒนธรรมหลาย ๆ อย่างมาโดยเฉพาะวิถีการกินแบบบ้านเกาหลีแท้ ๆ และแน่นอน ความที่เธอสนิทกับแม่มากกว่าพ่อ—และคิดว่าคงหวังพึ่งพ่อไม่ได้—ทำให้โลกของเธอแทบจะพังทลายตอนที่แม่เสียชีวิตไป

นอกจากนี้ ‘Crying in H Mart’ ก็เป็นเหมือนบันทึก coming of age ของมิเชลที่เขียนออกมาซึ่งสิ่งที่เธอพบพานมาตลอดชีวิต ตั้งแต่การอยู่กึ่งกลางระหว่างสองเชื้อชาติที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามในตัวตน คนเอเชียนก็ไม่ใช่ ฝรั่งก็ไม่เชิง ซึ่งเป็นปัญหาของลูกครึ่งหลาย ๆ คน การฟอร์มวงกับเพื่อน ๆ ที่ทำให้แฟนเพลงอย่างเรา ๆ รู้สึกเหมือนกำลังอ่านการเดินทางของวง ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาวที่ชวนอมยิ้ม แต่พอถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อกลับกลายเป็นแรงต่อต้านรุนแรงที่ทำให้ความสัมพันธ์ของเธอกับแม่ไม่ค่อยดีนัก แล้วจุดพลิกผันก็เกิดเมื่อตอนที่เธอเติบโตขึ้นและความมุทะลุทุเลาลง แต่ต้องมาพบว่าแม่ของเธอป่วยจึงทำให้เธอกลับมาทบทวนซึ่งความเปราะบางของชีวิต สิ่งที่ไม่มีใครคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นทำให้คำว่า ‘รู้งี้’ ผุดขึ้นมาโบยตีมิเชล แม้รู้ว่าทั้งหมดนั้นไม่ใช่ความผิดของเธอ แต่ก็อดไม่ได้ที่ลึก ๆ แล้วจะรู้สึกว่าเธอควรจะถนอมความสัมพันธ์ของเธอกับแม่ให้ดีกว่านี้

มิเชลพยายามทำให้แม่มีความสุขที่สุดในช่วงสุดท้ายของชีวิต และเมื่อเวลานั้นมาถึง เธอไม่ปล่อยให้ความเศร้ากัดกินนานจนเกินไปและกลับมาเห็นความงดงามในสายใยของครอบครัวที่ยังเหลืออยู่ เธอพยายามกอบกู้ตัวเองด้วยการใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่ H Mart ปล่อยให้ตัวเองร้องไห้ตรงนั้นสักพัก และเริ่มหัดทำอาหารเกาหลีหลายต่อหลายเมนูจากช่อง YouTube ของ Maangchi https://www.youtube.com/user/maangchi?app=desktop เป็นการบำบัดความเศร้า และแน่นอน การเขียนเพลงถ่ายทอดความรู้สึกเอ่อล้นที่เธออยากกล่าวกับแม่ผู้ล่วงลับในอัลบั้มของ Japanese Breakfast ก็ทำให้เธอรู้สึกเข้มแข็งขึ้นมา เพราะเธอเชื่อว่าถึงแม่ของเธอจะจากไปแต่ความรักและความทรงจำจะคงฝังลึกไปตลอดกาล

สั่งซื้อ ‘Crying in H Mart พื้นที่ให้เศร้า’ ฉบับภาษาไทย ได้ที่ https://store.minimore.com/salmonbooks/items/CRYING ลองหาอ่านฉบับออริจินัลได้ที่ร้านหนังสือทั่วไป หรือฟังแบบ audiobook ที่อ่านโดยมิเชล เซาเนอร์เองก็สะเทือนใจไปอีกแบบ

ขอขอบคุณ Salmon Books